เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 13. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
กิเลสที่เรียกว่าธุลีเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว
ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่
ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีธุลี ปราศจากธุลี คือ
ไร้ธุลี บำราศธุลี ละธุลีได้ หลุดพ้นธุลีได้ ก้าวล่วงธุลีทั้งปวงเสียแล้ว
ราคะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลี ไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของราคะ
ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นแล้ว
จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี
โทสะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลี ไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของโทสะ
ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นแล้ว
จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี
โมหะ เราเรียกว่า ธุลี
เราหาเรียกละอองว่า เป็นธุลี ไม่
คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของโมหะ
ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นได้แล้ว
จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี1
รวมความว่า ปราศจากธุลี
คำว่า ประทับนั่งอยู่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปาสาณกเจดีย์
รวมความว่า ประทับนั่งอยู่
พระสาวกทั้งหลาย ผู้มีวิชชา 3 ละมัจจุได้
นั่งห้อมล้อมพระมุนีผู้ถึงฝั่งแห่งทุกข์
ประทับอยู่ข้างภูเขา

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ม. (แปล) 29/209/613

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :269 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 13. อุทยมาณวปัญหานิทเทส
พระผู้มีพระภาคชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง
อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ เพราะทรงเป็นผู้สงัดจาก
ความขวนขวายทั้งปวงแล้ว ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว
ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย (และ)ภพใหม่ก็ไม่มีอีก
พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ผู้ทรงมีฌาน
ปราศจากธุลี ประทับนั่งอยู่
คำว่า ดังนี้ ในคำว่า ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้ เป็นบทสนธิ ฯลฯ
คำว่า ท่าน เป็นคำกล่าวด้วยความรัก เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ
คำว่า อุทัย เป็นชื่อของพราหมณ์นั้น ฯลฯ ชื่อเรียกเฉพาะ1 รวมความว่า
ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้
คำว่า ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า กิจน้อยใหญ่ คือ
กิจที่ควรทำและไม่ควรทำ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดราก
ถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี
เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว
ภิกษุผู้ไม่มีทิฏฐิที่ทำให้ตกไป ตัดกระแสขาดแล้ว
ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน2

ว่าด้วยอาสวะ 4
คำว่า ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า
คำว่า อาสวะ ได้แก่ อาสวะ 4 อย่าง คือ
1. กามาสวะ
2. ภวาสวะ
3. ทิฏฐาสวะ
4. อวิชชาสวะ

เชิงอรรถ :
1 เทียบกับความในข้อ 1/44
2 ขุ.สุ. 25/721/474

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :270 }